ในช่วงที่ผ่านมา เด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาในบ้านเรา ต่างก็มีไอเดียเจ๋งๆ ที่ใช้ความรู้พื้นฐานทางการเขียนโปรแกรมทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้อย่างน่าทึ่งมากมาย อาทิ นักเรียน ร.ร.แสวงหาวิทยาคม จ.อ่างทอง ที่ประดิษฐ์เครื่องกรอกน้ำอัตโนมัติ นักเรียน ร.ร.เนินมะปรางศึกษาวิทยา จ.นครปฐม คิดค้นผ้าม่านมหัศจรรย์เปิดด้วยเสียง ปิดด้วยแสงและเก้าอี้เคลื่อนที่เพื่อคนพิการ นักเรียน ร.ร.บ้านแหลมวิทยา จ.เพชรบุรี จัดทำเครื่องชั่งอัตโนมัติและเครื่องอบแห้งอัตโนมัติ นักเรียน ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย จ.นครราชสีมา คิดค้นเครื่องให้อาหารไก่อัตโนมัติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษก็คือ โครงงานคอมพิวเตอร์ "เครื่องให้อาหารปลาและรดน้ำต้นไม้ผ่านโทรศัพท์มือถือ" ของ "ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์" และ "วรสิทธิ์ เตชะวีระพงษ์" นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.วัดสุทธิวราราม ซึ่งสามารถเข้าตากรรมการจนได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องในโอกาสวันสถาปนาของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ครบรอบ 32 ปี
ภัคชนม์หรือดิว เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มที่คิดโครงงานได้ตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า โครงงานที่จะทำต้องทำงานเองได้อัตโนมัติและทำงานเวลาที่ไม่มีคนอยู่บ้านได้ จากนั้นจึงนำความคิดมาปะติดปะต่อกัน และอุปกรณ์ที่ใช้ก็ติดตั้งง่าย แค่กำหนดตำแหน่งที่เปิดรดน้ำต้นไม้แล้ววางท่อสปริงเกอร์ไปเรื่อยๆ ตามต้นไม้ที่เราจะรด ส่วนเครื่องให้อาหารปลาก็แค่เอาตัวเครื่องไปวางบนตู้ปลาก็ทำงานได้
โฉมหน้าแบบจำลองเครื่องรดน้ำต้นไม้และเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ
ทั้งนี้ สาเหตุที่คิดเครื่องดังกล่าวขึ้นมาก็เพื่อสนองความต้องการของคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน โดยสามารถสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือหรือตั้งเวลาทำงานได้ โดยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่ได้หรูหราซับซ้อนมากมาย เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือเก่าๆ รุ่นใดก็ได้ที่มีระบบสั่น แผ่นปริ้นท์ Ralay 12V DC มอเตอร์เกียร์โซลินอยวาวล์ ท่อพีวีซี พร้อมข้อต่อต่างๆ Connector เต้าเสียบ Adaptr Micro Switch สายไฟ กรวย แท่นไม้ ก็สามารถประดิษฐ์ได้แล้ว
"ก่อนที่จะคิดทำโครงการคอมพิวเตอร์นั้น สิ่งแรกก็คือ เราจะต้องมีพื้นฐานเบื้องต้นทางคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น และต้องรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์นิดหน่อย ผมอยากจะแนะนำให้ศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ก่อน และอย่าเพิ่งไปปิดกั้นความคิดตัวเองว่าทำไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ได้ลองทำ"
ด้านวรสิทธิ์หรือบิ๊กอธิบายเพิ่มเติมว่า ในการทำโครงงานเครื่องรดน้ำต้นไม้ ได้ช่วยกันทำทุกขั้นตอน โดยใช้ชุมนุมคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนเป็นสถานที่ทำงาน พวกฮาร์ดแวร์ก็ไปหาซื้อตามร้านที่บ้านหม้อ
"ผมสนใจคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เรียนชั้นประถมฯ แล้ว และสนใจหลายด้านทั้งด้านกราฟิกและการเขียนโปรแกรม ซึ่งก็ได้ฝึกฝนมาเรื่อยๆ จริงๆ แล้วคอมพิวเตอร์มีประโยชน์มาก แต่ส่วนใหญ่จะเห็นเยาวชนเล่นเกมซะมากกว่า อยากให้เพื่อนๆ หันมาสนใจด้านอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์นอกเหนือจากการเล่นเกมบ้าง เพราะถ้าเพื่อนๆ สนใจกันมากขึ้นก็จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ด้วย"
ที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้ผลงานของทั้งสองคนกำลังจะได้จดอนุสิทธิบัตรเพื่อยืนยันถึงขีดความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นในอีกไม่ช้า
ส่วนใครที่สนใจอยากจะคิดค้นแบบนี้บ้าง ตอนนี้ทาง สสวท.กำลังจัดแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ การประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์และการประกวดซอฟแวร์ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 3 มิ.ย.นี้ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0-2392-4021 ต่อ 3406,3413