เนื่องจากปัจจุบันบ้านแทบทุกหลังมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับระบบการใช้น้ำหลายอย่าง เช่น สุขภัณฑ์ประเภทก๊อกฉีดนวดได้ อ่างอาบน้ำ ฝักบัว เครื่องทำน้ำร้อน-น้ำอุ่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน หรือแม้กระทั่งระบบสปริงเกลอร์รดน้ำต้นไม้
ดังนั้น ทุกบ้านจึงจำเป็นต้องมีปั๊มน้ำเพื่อช่วยเสริมแรงดันน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำภายในบ้าน (ที่เป็นวิมาณของท่าน) มิใช่อุตส่าห์เก็บเงินซื้อหรือสร้างบ้านราคาแพงแต่กลับมีน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน บ้านแพงๆก็จะลดค่า (ความรู้สึก) ไปได้
เราจึงควรทราบหลักการเบื้องต้นในเลือกซื้อปั๊มน้ำไว้บ้าง ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อปั๊มน้ำ
โดยเราจะต้องสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
- บ้านมีกี่ชั้น (เพื่อบอกระยะความสูงที่จะส่งน้ำขึ้นไป)
- มีคนอยู่กี่คน (เพื่อบอกจำนวนจุด (ก๊อก) ในการเปิดน้ำใช้พร้อมกัน)
- จำนวนห้องน้ำในบ้าน จำนวนจุดใช้น้ำในห้องครัว จำนวนเครื่องซักผ้า จำนวนจุดจ่ายน้ำล้างรถ และจำนวนจุดต่อสายยางรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
- โอกาสที่จะใช้ก๊อกน้ำ หรือห้องน้ำ พร้อมๆกันมีทั้งหมดกี่จุด (เพื่อบอกปริมาณการใช้น้ำสูงสุด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง)
- จำนวนเครื่องทำน้ำอุ่น (เพื่อบอกแรงดันน้ำที่ต้องการใช้)
- ระบบไฟภายในบ้าน เป็นระบบไฟแบบไหน (ระบบไฟ 220V. หรือ 380V.)
- ถังสำรองน้ำขนาดกี่ลิตร (เพื่อบอกว่ามีปริมาณน้ำที่จะสามารถใช้ได้ต่อเนื่องนานเท่าไร ในกรณีที่น้ำประปาไม่ไหล หรือท่านใช้น้ำในปริมาณมากๆ)
- ขนาดท่อที่เดินภายในบ้าน (ขนาดท่อเมนและท่อที่ฝังในกำแพง) (อ่านบทความ "วิธีเลือกขนาดท่อน้ำประปา")
เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว จะสามารถนำมาพิจารณาเลือกซื้อปั๊มน้ำแบบง่ายๆ ดังนี้
ตัวอย่าง
สมมติว่าท่านมีบ้านสองชั้น 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำ (ทุกห้องมีเครื่องทำน้ำอุ่น) ในห้องครัวมีจุดใช้น้ำอีก 3 จุด มีเครื่องซักผ้า 1 เครื่อง มีจุดก๊อกรดน้ำต้นไม้หรือไว้ล้างรถ 4 จุด บ้านหลังนี้มีสมาชิกในบ้านพักอยู่เต็มทุกห้อง และยังมีการทำอาหารกินกันเองเป็นประจำ มีการเปิดน้ำรดต้นไม้ทุกวัน และล้างรถทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย
หากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในบ้านหลังนี้ ใช้น้ำเกือบครบทุกจุด หรือพูดง่ายๆคือ มีผู้ใช้ห้องน้ำทุกห้อง ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ และล้างรถไปพร้อมๆกัน ก็จะคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ง่ายๆได้ ดังนี้
- จำนวนจุดใช้น้ำ ณ เวลานั้นคือ ใช้ห้องน้ำ 4 ห้อง ใช้น้ำล้างจาน 1 จุด รดน้ำต้นไม้ 1 ก๊อก และล้างรถ 1 ก๊อก รวมเป็นจุดใช้น้ำทั้งหมด ณ เวลานั้น 7 จุด
- โดยทั่วไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาบน้ำ) หากต้องการอาบน้ำแบบสุขกายสบายใจ ก๊อกน้ำควรจะจ่ายน้ำอยู่ที่ 15 ลิตร/นาที โดยน้ำในขณะนั้นควรมีแรงดันที่ 2.5-3.0 บาร์
- สมมติเอาว่าทั้ง 7 จุดต้องใช้น้ำในปริมาณพอๆกัน ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำทั้งหมดในเวลานั้น คือ 7 จุด x 15 ลิตร/นาที = 105 ลิตร/นาที โดยขณะนั้นปั๊มต้องอัดแรงดันได้ประมาณ 2.5-3.0 บาร์ (เพราะว่ามีคนอาบน้ำด้วย)
สรุปได้ว่า ปั๊มน้ำที่ท่านควรเลือกซื้อสำหรับบ้านหลังนี้คือ ปั๊มน้ำที่จ่ายน้ำได้ประมาณ 105 ลิตร/นาที โดยปั๊มต้องสามารถสร้างแรงดันได้ประมาณ 3 บาร์ด้วย (หรือที่ 30 เมตร)
หมายเหตุ
** ขอย้ำว่าทั้งปริมาณน้ำและแรงดันที่คำนวณได้นี้ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองอย่าง (คือได้ปริมาณน้ำและแรงดันน้ำในเวลาเดียวกัน)
** ท่านไม่ควรเลือกซื้อปั๊มโดยการบอกแรงม้า หรือวัตต์ของมอเตอร์ หรือบอกขนาดความโตของท่อดูดท่อจ่ายของปั๊มก่อน แต่ควรยึดเอาวิธีคำนวณข้างต้นเป็นหลักในการเลือกสเปกของปั๊มน้ำที่ท่านต้องการ มิฉะนั้นท่านจะไม่ได้ปั๊มที่ตรงกับความต้องการของท่าน
** โดยทั่วไปแล้ว ปั๊มน้ำที่มีมาตรฐาน ผู้ผลิตจะต้องระบุช่วงของปริมาณน้ำและแรงดันของปั๊มแต่ละรุ่นไว้บนแผ่นป้าย เช่น สูบน้ำได้ช่วง 10-120 ลิตร/นาที ทำแรงดันน้ำ (ส่งสูง) ได้ช่วง 35-5 เมตร เป็นต้น
ซึ่งในการพิจารณาเลือกปั๊มน้ำนั้น เราไม่ควรดูที่ตัวเลขต้นสุดหรือปลายสุดของช่วงสเปกที่ระบุไว้ (หรือของเส้นกราฟที่แสดงการทำงานของปั๊มรุ่นนั้นๆ) เพราะจะทำให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มที่ต่ำ กินไฟมาก หรือเกิดการสึกหรอสูง โดยเราควรจะดูจากจุดกลางๆของสเปกปั๊มตัวที่เลือก เพื่อดูว่าปั๊มน้ำตัวนั้นสามารถให้น้ำและแรงดันใกล้เคียงกับความต้องการใช้น้ำของท่านหรือไม่ และควรเผื่อให้มากว่าหรือสูงกว่าที่ท่านคำนวณได้ อีกประมาณ 10-15% (เนื่องจากท่อน้ำที่เดินฝังอยู่ในกำแพงบ้านมักจะเป็นท่อขนาดเล็กและมีจุดหักงอหลายจุด ซึ่งสร้างค่าแรงฝืดทำให้น้ำไหลอ่อนลง)
** ท่านสามารถนำวิธีการเลือกปั๊มดังกล่าวข้างต้น ไปประยุกต์ในการเลือกปั๊มน้ำเพื่อใช้ในอาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้เรายังสามารถใช้อินเวอร์ทเตอร์มาควบคุมการสตาร์ทและการหยุดของมอเตอร์แทนการใช้ตู้ควบคุมแบบแมกเนติกทั่วไป ซึ่งตู้ควบคุมมอเตอร์แบบอินเวอร์ทเตอร์นี้มีประสิทธิภาพช่วยประหยัดไฟสูงมาก และยังสามารถสั่งให้มอเตอร์ปั๊มทำงานที่แรงม้าต่ำๆ ให้ตรงตามการใช้น้ำที่แท้จริงได้ (เมื่อใช้น้ำน้อยมอเตอร์จะออกแรงน้อย เมื่อใช้น้ำมากมอเตอร์ออกแรงเพิ่มขึ้น)